Posted : 20 Aug 2020

ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำจากวิกฤติโรคระบาด ประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะสหรัฐ ยูโร ญี่ปุ่น ล้วนใช้กลไกการอัดฉีดเศรษฐกิจด้วยการพิมพ์เงิน หรือที่เรียกว่า QE กันทั้งสิ้น แต่ในมุมประเทศเล็ก ๆ ล่ะ ข่าวว่าตุรกีเตรียม QE แล้วประเทศอย่างไทย ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีโอกาสจะพิจารณาทางเลือกนี้อยู่

สิ่งที่จะตามมาจากการ QE ของประเทศเล็กคืออะไร ? ก่อนอื่น เราต้องมองภาพให้ชัดก่อนว่า เงินที่ธนาคารกลางพิมพ์ออกมานั้นจะเอาไปทำอะไร

โดยปกติแบงค์ชาติพิมพ์เงินก็เอาไปใช้ไม่กี่อย่างครับ
1. ซื้อสินทรัพย์จากธนาคารพาณิชย์
2. ปล่อยกู้ให้รัฐบาล

ถ้าเป็นข้อ 1 คือแบงค์ชาติเพิ่มสภาพคล่องให้ธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถประกอบธุรกิจ หรือปล่อยสินเชื่อให้ Real Sector เดินหน้าต่อได้ ส่วนข้อ 2 คือการอัดฉีดเงินให้รัฐโดยตรง รัฐก็เอาเงินที่ได้ ไปกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น แจกเงินประชาชน อุ้ม SME ฯลฯ ก็ว่ากันไป แต่รัฐต้องแลกมาด้วยการทำงบประมาณขาดดุล นั่นคือ หนี้รัฐบาลจะสูงขึ้นมาก (ปัจจุบันอยู่แถวๆ 40% ของ GDP แต่ปีนี้คงโดดไปเยอะ เพราะกู้เพิ่มเยอะ แล้ว GDP น่าจะตกหนักด้วย)

แต่เดี๋ยวก่อน..

ปกติแล้วรัฐสามารถออกพันธบัตรขายให้ประชาชนหรือนักลงทุนได้อยู่แล้ว แล้วทำไมแบงค์ชาติต้องมาซื้อพันธบัตรด้วย ?  สาเหตุชัดเจนมีสาเหตุเดียวครับ

หานักลงทุนที่อยากให้รัฐบาลกู้ไม่ได้!!

พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าแบงค์ชาติ QE มาซื้อพันธบัตร นั่นหมายถึง พันธบัตรของรัฐบาลประเทศนั้น ๆ ไม่จูงใจให้คนมาถือ หรือก็คือ ผลตอบแทน เทียบกับความเสี่ยง มันไม่คุ้มกัน ตอนสหรัฐ QE ทั้งช่วงหลัง Subprime และช่วง COVID คือ รัฐต้องการเงินมหาศาลอย่างเร่งด่วน รอไม่ได้ ธนาคารกลางเลยมาจัดการเป็นคนแทรกแซงตลาด ซื้อพันธบัตรแทนซะ ตอนประกันสังคมญี่ปุ่น ทนผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไม่ไหว ขายพันธบัตรทิ้ง ธนาคารกลางญี่ปุ่นเลยต้องมารับซื้อพันธบัตรไม่อั้น ให้รัฐมีเงินไว้ใช้จ่ายต่อไป

แต่..

ถ้าธนาคารกลางประเทศเล็ก ๆ QE เพื่อมาซื้อพันธบัตรประเทศตัวเอง ความเสี่ยงนี่น่ากลัวอย่างนึงอาจจะเกิดขึ้น นั่นคือ เครดิตความน่าเชื่อถือของรัฐจะเสียไป เหมือนกรณีประเทศอย่างซิมบับเว เคยพิมพ์เงินจนเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) แต่ในภาวะผิดปกติอย่าง COVID ตอนนี้ ผมไม่แน่ใจว่าทฤษฏี พิมพ์เงินแล้วเงินจะเฟ้อ จะยังคงได้ผล เพราะหัวใจสำคัญของโลกเราตอนนี้ คือการยื้อระบบเศรษฐกิจ ไม่ให้ล่มสลายไปเพราะโรคระบาด ถ้าการพิมพ์เงิน มันช่วยให้รัฐมีกระสุนที่จะอัดฉีดประคองระบบเศรษฐกิจได้จริง มันอาจจะกลับกลายเป็นเรื่องดี ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่น ว่าประเทศจะยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ล่มสลายไปพร้อมกับโรคติดต่อ สุดท้าย ประเทศใด ๆ จะเกิดอภิมหาเงินเฟ้อ (Hyperinflation) หรือไม่นั้น ท้ายสุดแล้วมันไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับปริมาณเงินที่พิมพ์ออกมาเลย แต่มันเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่น (Trust) ที่นักลงทุนมีต่อประเทศนั้น ๆ ต่างหากสหรัฐอเมริกา ยูโร ญี่ปุ่น อังกฤษ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ถึงพิมพ์เงิน ก็ไม่เฟ้อ และอยู่มายาว ๆ ร่วม 10 ปี การพิมพ์เงินของธนาคารกลางอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำลายเครดิตประเทศ แต่ถ้าพิมพ์เงินแล้ว ช่วยให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ เรื่องราวก็อาจจะกลับกลายเป็นตรงกันข้าม เหมือนตอนสหรัฐ QE หลัง COVID ปรากฏว่า Dollar Index แข็งโป๊ก สวนทฤษฏีหน้าตาเฉย

“นั่นก็เพราะคน “เชื่อ” ว่าเงินที่พิมพ์ออกมานี้จะช่วยให้สหรัฐเดินหน้าต่อไปได้”

แต่ยังไงก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้ว เงินที่พิมพ์ออกมา มันต้องไหลไปที่ไหนซักแห่ง ถ้าเงินนั้น ไหลเข้ามือนายทุน ไหลเข้าตลาดหุ้น ตลาดเก็งกำไร ภาพโลกเราหลังจากนี้ ก็คงจะกลับไปคล้ายกับช่วงหลัง Subprime นั่นคือสินทรัพย์ทั่วโลกวิ่ง Bull กันถ้วนหน้า แต่ภาวะเงินฝืดก็จะยังมีต่อไป เพราะเงินไม่ได้ไหลเวียนใน Real Sector คนส่วนใหญ่ยังจน ไม่มีเงินที่จะหมุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่กลับกัน ถ้าเงินนั้น ไหลเข้ามือรากหญ้า ไหลเข้า Real Sector โลกเราหลังจากนี้คงมีเงินหมุนดีขึ้น เงินก็จะเริ่มเฟ้อขึ้น และเศรษฐกิจคงจะเริ่มขยับเขยื้อนได้บ้าง (ขึ้นกับภาวะโรคระบาดหลังจากนี้ด้วย) ส่วนประเทศนั้นๆ จะเกิด Hyperinflation หรือไม่ ผมคิดว่ามันขึ้นกับพื้นฐานความแข็งแกร่งของประเทศ

สมมตินะครับ สมมติว่าจีนหรือเกาหลีใต้ QE ไม่อั้น เพื่อเอามากระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเกิด Covid Wave 2 จริง

คนที่เชื่อมั่น ว่าปัญหานี้เป็นเพียงปัญหาชั่วคราว อีก 1-2 ปี เมื่อวิคซีนสำเร็จ ปัญหาก็จะหายไป จีนและเกาหลีก็จะกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในกรณีแบบนี้ ยังไงเงินหยวน กับเงินวอน ก็จะไม่ Hyperinflation แน่ ๆ พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าคนยังเชื่อ ว่าประเทศนั้นจะไม่ล่มสลาย เงินก็ไม่มีทางหมดค่า แต่กลับกัน ถ้าประเทศไทย QE เราคงต้องกลับมาตั้งคำถามว่า พื้นฐานของไทยนั้นแข็งแกร่งในระดับไม่มีโอกาสเจ๊งหรือไม่

“อันนี้เป็นคำถามปลายเปิด ที่พวกเราอาจจะมีคำตอบในใจที่แตกต่างกัน”

PS. แต่ในระยะยาวแล้ว อย่าลืมว่า ปริมาณเงินในเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นเยอะมากจนเกินไปมานานแล้ว จะช้าหรือเร็ว วงจรการเพิ่มหนี้จากเครดิต จะต้องชะลอลง เข้าสู่ช่วง Deleveraging หัวใจสำคัญของระบบทุนนิยมหลังจากนี้ คือโลกของเรา จะ Deleverage หนี้ต่าง ๆ อย่างไร ถ้าเดินหน้าผิดพลาด อาจจะถึงระดับการล่มสลายของทุนนิยมเลยทีเดียว ผมเองก็ไม่รู้อนาคต แต่บอกได้เพียงว่า ระบบเศรษฐกิจโลกหลังจากนี้ แทบจะอ้างอิงทฤษฏีจากในตำราไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เราได้แต่ติดตาม ทำความเข้าใจ เหตุ/ผล ของกลไกเศรษฐศาสตร์ใหม่ ๆ และหวังว่า ซักวันหนึ่งเราอาจจะเข้ามันได้มากขึ้นในที่สุด

AVA Advisor แอปพลิเคชั่นสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น ทุกท่านสามารถคลิกดูดูหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวเพื่อวิเคราะห์ตลาดและแนวโน้มของหุ้นกลุ่มนี้ในช่วง COVID-19 กันได้เลยคลิกเพื่อดูหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวได้ ที่นี่” 

Niran Pravithana

Author Niran Pravithana

CEO of Market Anyware

More posts by Niran Pravithana