Posted : 20 Aug 2020

หุ้น CPF หรือบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์อาหารโดยสายการผลิตของบริษัทครอบคลุมธุรกิจที่แบ่งออกเป็น 3 ด้านคือ ธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ (Farm) และธุรกิจอาหาร (Food) นอกจากนี้ธุรกิจของ CPF นั้นทำทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำโดยมีสัดส่วนสัตว์บก 85% และสัตว์น้ำ 15%

ธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) มีผลิตภัณฑ์หลักที่สำคัญ คือ อาหารสุกร อาหารไก่ อาหารกุ้ง อาหารปลา เป็นต้น โดยวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ก็มาจาก ข้าวโพด กากถั่ว  เหลือง ปลาป่น รำข้าว โดยบริษัทจะขายให้แก่เกษตรกรเพื่อนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ โดยในธุรกิจนี้มีสัดส่วนรายได้กว่า 42 % จากรายได้ทั้งหมด

ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ (Farm) โดยบริษัททำฟาร์มเลี้ยงสุกร เป็ด กุ้ง และมีเทคโนโลยีในการจัดการฟาร์มและวิจัยสายพันธุ์สัตว์ นอกจากนี้ในส่วนนี้จะแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 2 ด้านคือ พันธุ์สัตว์ และสัตว์รวมถึงผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และนอกจากบริษัทจะทำฟาร์มเลี้ยงเองแล้ว ยังมีส่วนที่บริษัททำสัญญากับเกษตรกรให้เกษตรกรเลี้ยงตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนดหรือ Contract Farming โดยยอดขายในส่วนธุรกิจการเลี้ยงสัตว์หลัก ๆ จะมาจากสัตว์บกคือ สุกรและไก่เนื้อ ในธุรกิจ Farm มีสัดส่วนรายได้กว่า 41 % ของรายได้ทั้งหมด

ธุรกิจอาหาร (Food) เป็นส่วนที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูป เช่น อาหารสด อาหารปรุงสุก ในแบรนด์ของซีพี คิทเช่นจอย ไก่ย่างห้าดาว BK  เป็นต้น รวมถึงมีการรับจ้างผลิต OEM ให้ลูกค้าแบรนด์อื่น ๆ ด้วยโดยในธุรกิจ Food มีสัดส่วนรายได้ 17% ของรายได้รวม ในส่วนนี้ถึงแม้จะมีรายได้ในสัดส่วนที่ต่ำที่สุด แต่กลับมีอัตรากำไรที่สูงที่สุดเนื่องจากบริษัทมีกลยุทธ์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สวยงาม และขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในแบรนด์ของบริษัทเอง เช่น ธุรกิจไก่ย่างห้าดาว ร้านอาหารเชสเตอร์ ร้านซีพี เฟรซมาร์ท เป็นต้น

นอกจากนี้บริษัทยังมีรายได้จากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนที่ CPF ถือหุ้น CPALL ในสัดส่วน 33.67% (ณ วันที่ 30/09/2562) ซึ่งส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนใน CPALL มีสัดส่วน 34% จากกำไรสุทธิของ CPF

ในปัจจุบันนี้ CPF มีสัดส่วนรายได้จากในประเทศไทย 32% และรายได้จากต่างประเทศกว่า 65% โดยบริษัทมี Vision หลักที่จะเป็น “ครัวของโลก” จึงมีกลยุทธ์ที่จะขยายธุรกิจทั้งผลิตและส่งออกรวมถึงไปลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทลงทุนในต่างประเทศกว่า 17 ประเทศ และรายได้จากต่างประเทศที่สูงที่สุดมาจากประเทศจีน รองลงมาคือเวียดนาม ซึ่งในอดีตรายได้จากในประเทศไทยสูงกว่ารายได้จากต่างประเทศ แต่ในระยะหลายปีมานี้รายได้จากต่างประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ท่านสามารถดูสรุปรวมงบการเงินและการเติบโตของหุ้น CPF ด้วย AVA Fact Sheet

 

สแกนเพื่อดูรายได้ของหุ้น CPF ได้ที่นี่เลยสแกนเพื่อดูรายได้ของหุ้น CPF ได้ที่นี่เลย

แผนกลยุทธ์การเติบโตในอนาคต

    1. บริษัทตั้งเป้าประมาณการรายได้เติบโตปีละ 10 % โดยใน 5 ปีนี้บริษัทมุ่งเน้นที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเป็น 75% และรายได้จากในประเทศไทยและส่งออก 25% ซึ่งธุรกิจในต่างประเทศจะเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของบริษัทในระยะยาว (เนื่องจากบริษัทมักจะลงทุนในประเทศที่กำลังพัฒนาจึงมีข้อได้เปรียบในด้านต้นทุนวัตถุดิบและขายให้แก่ประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีกำลังซื้อสูง)
    2. บริษัทตั้งงบลงทุนในแผน 5 ปี ปีละ 30,000 ล้านบาทให้ต่อเนื่องทุกปีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตของรายได้ที่ 10% ต่อปี
    3. บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของรายได้ธุรกิจอาหาร(Food) จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนรายได้เพียง 17% ให้มีสัดส่วนที่มากขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ จาก 3 ธุรกิจหลักของบริษัท ซึ่งบริษัทก็มีกลยุทธ์ในการซื้อกิจการ (M&A) หรือการร่วมทุน และการสร้างแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งธุรกิจ Food จะทำให้บริษัทมีกำไรมากกว่าธุรกิจ Feed และ Farm

ซึ่งในฐานะนักลงทุนเมื่อวิเคราะห์การเติบโตแล้วข้อสังเกตที่ไม่ควรมองข้ามคือ ความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งในธุรกิจนี้มักจะมีความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ รวมถึงราคาเนื้อสัตว์ที่อาจจะกระทบในส่วนของธุรกิจ Feed และ Farm ได้

แผนกลยุทธ์ของบริษัทดังกล่าวมานี้ จัดว่าสอดคล้องกับการจำกัดความเสี่ยงของบริษัทอยู่เหมือนกัน เพราะในส่วนของธุรกิจ Farm ผลประกอบการมักจะผันผวนจากราคาหมูหรือไก่ในตลาด ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทมีความผันผวนอยู่พอสมควร แต่ในระยะยาวถ้าแผนการขยายไปยังธุรกิจ Food รวมถึงการสร้างแบรนด์ของบริษัทประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ ก็อาจจะทำให้ความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันผวนของราคาเนื้อสัตว์มีผลกระทบต่อผลประกอบการลดน้อยลงไป

Warasorn Worradaluk

Author Warasorn Worradaluk

More posts by Warasorn Worradaluk