Posted : 20 Aug 2020

การอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจโลกอย่าง QE ที่หลาย ๆ ประเทศทำกัน ในอนาคต ไทยก็อาจจะเลี่ยงไม่ได้ (แม้ผมจะยังเชื่อว่า ไทยและประเทศเล็ก ๆ อื่น ๆ ไม่ควรทำ QE ก็ตาม) อยากให้คิดในมุมนี้ครับ ว่า QE และดอกเบี้ยติดลบ คือภาษีประเภทหนึ่ง ในอนาคตมนุษย์อย่างเรา ๆ จะโดนภาษีกันจากอะไรบ้าง ?

  1. Income Tax
    หรือ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Tax On Income)” นั่นคือ เมื่อคุณมีรายได้ คุณจะต้องแบ่งส่วนหนึ่งของรายได้ที่คุณหามาได้ให้กับรัฐบาล เฉพาะคนที่มีรายได้เท่านั้นที่จะเสียภาษีตรงนี้
  2. VAT
    ก็คือ “ภาษีจากการบริโภค (Tax On Consumption)” ทุกครั้งที่คุณควักกระเป๋าใช้จ่าย รัฐบาลจะดึงเงินส่วนนึงไปจากคุณ (VAT นี้โหดกว่าภาษีบุคคลธรรมดาอีก เพราะมันเก็บกับทุกคนที่มีรายจ่าย โดยไม่สนใจว่าเค้าจะมีรายได้หรือไม่ เด็ก 5 ขวบซื้อไอติมก็ไม่เว้น)
  3. QE
    ก็คือ “ภาษีจากการมีเงิน (Tax On Money)” ใครก็ตามที่มีเงินในกระเป๋า เงินของคุณจะเจือจางลงจากปริมาณเงินที่ถูกธนาคารกลางพิมพ์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าคุณจะบริโภคหรือไม่มีงานทำหรือไม่ (อันนี้โหดกว่า VAT นะ เพราะ แม้แต่เด็ก 5 ขวบที่มีเงินในกระเป๋า แม้ไม่ซื้อไอติม เก็บเงินไว้เฉย ๆ ก็จะโดนภาษีจาก QE)
  4. Negative Interest Rate
    และเมื่อคนยังไม่ยอมไม่ใช้เงิน Negative Interest Rates จึงเกิดขึ้น ซึ่งมันก็คือ “ภาษีจากเวลา (Tax On Time)” ใครก็ตามที่ถือเงินไว้นาน ๆ เงินคุณจะลดลงจากดอกเบี้ยที่ติดลบ (อันนี้โหดกว่า QE เพราะนอกจากมูลค่าของเงินจะจะเจือจางลงจาก QE แล้ว จำนวนเงินก็ยังลดลงจากอัตราดอกเบี้ยติดลบอีกด้วย)

ลองจินตนาการภาพรัฐ “พิมพ์เงิน” ออกมาจำนวนมากแล้วเอามาแจกเงินคนที่ไม่มีเงินนะครับ (ขอตั้งสมมติฐานว่าเป็นการแจกอย่างโปร่งใสและยุติธรรม)

  • เงินที่พิมพ์ออกมาจะไหลไปยังกระเป๋าคนจน
  • ในขณะที่คนที่มีเงิน จะโดนภาษี QE และ Negative Interest Rate ตลอดเวลา

คิดอีกแง่ มันคือการ Rebalance เงินในกระเป๋า โดยโยกเงินจากกระเป๋าคนมีตังค์ ไหลไปยังกระเป๋าคนไม่มีตังค์นั่นแหละ ถ้าคิดตามแนวคิดนี้ ใครที่มีเงินยิ่งมาก คุณก็จะยิ่งโดนภาษีมากขึ้นจากการ QE และ Negative Interest Rate ใครที่มีเงินน้อย คุณก็จะยิ่งโดนภาษีน้อยลง มันอาจจะเป็นวิธีการลดความเหลื่อมล้ำของทุนนิยมที่ดีวิธีนึงเลยก็เป็นได้นะครับ (Based On Right Execution นะครับ)

PS. เคลียร์กันอีกนิดตรงนี้ ผมเคยโจมตี QE มาตลอด ด้วยเหตุผลที่ QE ครั้งก่อน ๆ ของมหาอำนาจนั้น เงินไม่ได้ไหลเข้าสู่รากหญ้า แต่กลับไปไปสู่มือนายแบงค์และนายทุน ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมันจะต่างจากการ QE เพื่อส่งตรงถึงรากหญ้าแบบนโยบายของหลาย ๆ ประเทศในปัจจุบันนะครับ

Niran Pravithana

Author Niran Pravithana

CEO of Market Anyware

More posts by Niran Pravithana