Posted : 20 Aug 2020

** บทความนี้ผมเขียนช่วง 5 ปีที่แล้ว ในปี 2015 (ลูกศรน้ำเงินในภาพ) ในช่วงที่ผู้คนกำลังสงสัยว่า สหรัฐอเมริกา QE มากมายมาตั้งแต่ปี 2008 (ลูกศรแดงในภาพ) แต่ทำไมเงินดอลล่าร์ถึงไม่เฟ้อ เอาบทความนี้มาโพสอีกรอบ ในช่วง QE Unlimited จากทั่วโลกครับ หลายคนบอกว่าหลังจากนี้ดอลล่าร์จะเจอกับอภิมหาเงินเฟ้อ หรือ Hyperinflation ประเด็นเดิม ๆ ในบริบทใหม่ๆ ผมเองยังเห็นต่างจากประเด็นนี้ หากดอลล่าร์จะ Hyperinflation ยังไงผมก็คิดว่าจะเป็นสกุลหลักสุดท้ายที่จะพังถัดจาก เยนยูโร **

“อะไรที่ผลิตมามากเกินไป มันจะด้อยค่าลงเสมอ”

นี่คือกฏเศรษฐศาสตร์พื้นฐานที่พวกเราคุ้นกันดีอยู่ เมื่อน้ำมันล้นโลก น้ำมันก็ราคาตก เมื่อคนวัยทำงานล้นประเทศ ค่าแรงก็จะถูกกด และเมื่อรัฐบาลทั่วโลกพิมพ์เงินในชื่อของ QE กันมาตลอด 3-4 ปีนี้ ตามคำแนะนำของนักเศรษฐศาสตร์สาย Keynesian จนเกิดสภาวะเงินล้นโลก นักเศรษฐศาสตร์สาย Austrian ที่ไม่ชอบการแทรกแซงเศรษฐกิจของภาครัฐจึงเชื่อมั่นว่าเงินจะต้องถูกลงมาก ๆ หรือเกิดวิกฤตการณ์อภิมหาเงินเฟ้อ (Hyperinflation) ซึ่งความเป็นจริงในโลกที่เกิดขึ้นมันห่างไกลกับที่นักเศรษฐศาสตร์สาย Austrian คาดกันไว้อย่างมาก ไม่ใช่ว่านักเศรษฐศาสตร์สาย Keynesian ถูก แล้วสาย Austrian คิดผิดหรอกครับ ความจริงมันผิดกันทั้งคู่นั่นแหละ

  • บางคนบอกว่าเรากำลังอยู่ในยุคของเงินฝืด (Deflation)
  • บางคนบอกว่าเรากำลังอยู่ในยุคของเงินเฟ้อ (Inflation)

ถูกทั้งคู่ครับ!! เงินฝืด ไม่ใช่ขั้วตรงข้ามของเงินเฟ้อนะครับ เงินฝืดและเงินเฟ้อสามารถเกิดขึ้นได้พร้อม ๆ กัน สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันอยู่ในสภาวะเงินฝืด (การหมุนเวียนของเงินลดลงเป็นอย่างมาก) แต่ข้าวของกลับแพงขึ้น (เงินเฟ้อ)

ในอดีต เราเชื่อกันว่า เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี คนไม่มีเงิน ข้าวของขายไม่ได้ สุดท้ายราคาสินค้าจะลดลงถึงจุดที่คนสามารถซื้อได้ นั่นหมายถึงว่าเมื่อเงินหาได้ยากขึ้น เงินจึงมีมูลค่ามากขึ้น เมื่อเทียบกับสินค้าจึงสามารถใช้เงินจำนวนน้อยซื้อสินค้าจำนวนมากได้ นี่คือเงินฝืดที่คนกลัวกัน

เอาเข้าจริงทฤษฏีเศรษฐศาสตร์มันถูกเปลี่ยนไปมากในโลกยุคปัจจุบัน แม้จะมีการพิมพ์เงินออกมาอย่างมากจาก QE ของรัฐบาล แต่เงินกลับไปไม่ถึงมือของประชาชน ดังนั้นไม่มีใครรู้สึกว่าเงินหาได้ง่าย แม้ปริมาณเงินจะเยอะก็ตาม เราจึงไม่รู้สึกว่าเงินถูกลง และเมื่อประชาชนหาเช้ากินค่ำยังรู้สึกว่าเงินหาได้ยากมากขึ้น ๆ ไม่ว่ารัฐบาลจะพิมพ์ออกมามากเท่าไหร่ก็ไม่ถึงมือพวกเค้า อะไรก็ตามที่หายาก มักจะต้องถูกกักตุน (Hoarding)

แน่นอนคนส่วนใหญ่กักตุนเงิน เพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคต ทำให้เงินยิ่งหายากมากขึ้นไปใหญ่ สถานการณ์นี้คือปรากฏการณ์เงินฝืด ที่กำลังเกิดอย่างรุนแรงทั่วโลก

แต่… แต่… แต่…เงินฝืดในยุคนี้ไม่ได้ทำให้ข้าวของราคาลดลงได้เหมือนอย่างในทฤษฏี

เงินฝืดยุคนี้คนขายของลดราคาของลงไม่ได้แล้ว เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทุกวัน ข้าวของแพงขึ้นในขณะที่เกิดเงินฝืด เราเรียกกันในอดีตว่า Stagflation (มาจาก Stagnation + Inflation) แต่ Stagflation ในปี 2015 ต่างกับ Stagflation ในปี 1983 เยอะครับ ในช่วง 1983 ช่วงนั้นราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์จากการปฏิวัติภายในอิหร่าน (Iranian Revolution) ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้นทั่วโลกโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ปี 2015 ราคาน้ำมันลงต่ำถึง 50% แต่ทำไมของค่าครองชีพของเราไม่ได้ลดลงเลย

ต้นเหตุมันคือความล้มเหลวของการบริหารงานของภาครัฐครับ ธนาคารพิมพ์เงินอย่างมันส์มือ ทำให้ต้นทุนของรัฐสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่กลับไม่ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ก่อให้เกิดผลิตผล สุดท้ายแล้วสิ่งที่จะเกิดต่อจากนี้คือ ภาระหนี้ที่รัฐบาลจะต้องแบกหนักขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจจอมพิมพ์เงินอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และล่าสุดก็คือกลุ่มยูโร ต้นทุนของรัฐที่สูงขึ้นนี่แหละที่กดดันทำให้แทบทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้กลับแพงขึ้นเรื่อย ๆ

แต่เรายังห่างไกลกับคำว่าอภิมหาเงินเฟ้อ (Hyperinflation) การเกิดอภิมหาเงินเฟ้อนั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากการพิมพ์เงินไม่จำกัดของรัฐบาลอย่างที่หลาย ๆ คนเชื่อกัน แต่ความจริงมันเกิดจากความล่มสลายในความเชื่อมั่นในรัฐบาลต่างหาก ก่อนเวลานั้นจะมาถึงเราจะต้องเข้าสู่ขาดแคลนเงินที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ (หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดคืออเมริกาพิมพ์เงินมาตลอด 4 ปี แต่เงินดอลล่าห์กลับแข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนราคา Commodity ก็ไม่เข้าใกล้คำว่า Bullish เลย ไม่ว่าจะเป็นทองคำหรือสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ไม่มีแนวโน้มของสภาวะ Hyperinflation ที่เงินจะต้องถูกมาก ๆ และ Commodity จะต้องแพงเลย​)

แล้วถ้าเงินที่รัฐพิมพ์ออกมามันไม่ถึงมือประชาชน คำถามคือ เงินปริมาณมาก ๆ นี้มันไปอยู่ที่ไหนในเศรษฐกิจโลกล่ะ ? หัวใจสำคัญของทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ในโลกยุคนี้จึงควรโฟกัสไปที่เรื่องของ Capital Flow มากกว่า

จะเข้าใจจิ๊กซอว์ “เศรษฐศาสตร์ใหม่” ทั้งหมด เราคงต้องคุยกันยาวถึงเรื่อง Hyperinflation, Capital Flow, Deflation, Interest Rate Policy, Exchange Rate ผมจะทยอยเขียนมาให้อ่านเรื่อย ๆ ครับ

  

AVA Advisor แอปพลิเคชั่นสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น ทุกท่านสามารถคลิกดู Sector ต่าง ๆ ในตลาดหุ้นได้ที่นี่เลย AVA Advisor แอปพลิเคชั่นสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น ทุกท่านสามารถคลิกดู Sector ต่าง ๆ ในตลาดหุ้นได้ที่นี่เลย

 

Niran Pravithana

Author Niran Pravithana

CEO of Market Anyware

More posts by Niran Pravithana