Posted : 20 Aug 2020

เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน (3 มิถุนายน 2562) ผมมีโอกาสได้รับเกียรติจาก Greenovation Institute เชิญไปพูดให้ความรู้เรื่องธุรกิจกัญชากับตลาดหุ้น วันนี้เลยอยากเอาเนื้อหาที่ผมพูดในงานมาสรุปให้อ่านกัน

ก่อนพูดเรื่องหุ้นกัญชาผมอยากสรุปประเด็นกัญชากับสังคมซักนิดก่อน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจจุดยืนและแนวทางของผมอย่างชัดเจน อย่างที่หลายท่านทราบกันว่าประเด็นเรื่องการผ่านกฎหมายกัญชานั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นจำนวนมาก หากสนใจเรื่องนี้ผมอยากให้ลองอ่าน “บทความที่นี่” ของผมที่เขียนให้กับทาง AHEAD ASIA เป็นการเกริ่นนำเพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อน

ทำไมเสรีกัญชา กับ กัญชาถูกกฎหมาย ไม่เหมือนกัน ?

เสรีกัญชา ในความหมายของบางท่านอาจหมายถึง การบริโภคกัญชาได้แบบบริโภคน้ำตาล คือ บริโภคที่ไหน เมื่อไหร่ เท่าไหร่ ก็ได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วยังไม่มีประเทศไหนให้ “เสรีกัญชา” ได้ในระดับนั้น แม้แต่ในเนเธอร์แลนด์คอฟฟี่ช็อปที่ให้บริการกัญชายังมีกฎหมายกำกับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องห้ามอยู่ใกล้เขตสถานศึกษาในระยะ 250 เมตร ห้ามครอบครองเกิน 5 กรัม และยังห้ามสูบในที่สาธารณะ หรืออย่างแคลิฟอร์เนีย แม้จะมีความเสรีสูงกว่าในเนเธอแลนด์ในกรณีกัญชาเพื่อนันทนาการ แต่ก็ยังมีการจำกัดการครอบครองไม่เกิน 1 ออนซ์ (28 กรัม) หรือการผสมกัญชาในอาหารก็ยังจำกัดไม่ให้เกิน 8 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค

เรามัวแต่ทะเลาะกันเรื่องกัญชาถูกฎหมาย (Legalisation) แทนที่จะคุยกันเรื่องการเปลี่ยนผ่าน (Transformation)

สิ่งที่ผมพยายามพูดเสมอเวลาคุยเรื่อง Cannabis Legalisation ก็คือ เราไม่ควรต้องพูดกันเรื่อง Legalisation อีกแล้ว แต่สิ่งที่เราควรทำคือหาเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน (Transformation) จากการที่กัญชาเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย (Hard Drug) ไปเป็นยาเสพติดที่ได้รับการอนุญาต (Soft Drug) ยกตัวอย่างที่ชัดเจน กรณีศึกษาของแคลิฟอร์เนีย หลังอนุญาตกัญชาถูกกฎหมายได้เพียงไม่นาน มีงานวิจัยว่าปัญหาสังคมเพิ่มสูงขึ้นจากการเสพกัญชา เมื่อเทียบกับเนเธอร์แลนด์ซึ่งกัญชาถูกกฏหมายมาหลายสิบปีแล้ว ระดับปัญหาสังคมยังต่ำกว่ามาก

นั่นเป็นการบ่งบอกว่า การปล่อยเสรีที่เร็วมากจนเกินไปนั้น สังคมจะเกิดปัญหาการปรับตัวไม่ทัน ดังนั้นหัวใจสำคัญของการเปิดกัญชาถูกกฎหมายคือ เราจะให้ความรู้สังคมและค่อย ๆ ปลดโซ่ตรวนกัญชาอย่างไร ที่จะทำให้สังคมได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จนกระทั่งปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับกัญชาได้อย่างสงบสุข เพราะทางทฤษฎีพิสูจน์แล้วว่า ในเชิงเคมีกัญชามีโทษน้อยกว่าบุหรี่และเหล้า

แต่ปัญหาสังคมที่เกิดจากกัญชาเป็นเพียงเพราะผู้บริโภคปรับตัวไม่ทัน เกิดกระแสเสพด้วยความ “เห่อ” ของที่เคยผิดกฎหมาย ทำให้เกิดการบริโภคเกินควรจนทำให้สังคมได้รับภาระจากการเสพ

ผมจำเป็นต้องพูดประเด็นนี้ก่อนจะเข้าเรื่องเพราะกัญชาเป็นหัวข้อที่ละเอียดอ่อน จุดยืนของผมชัดเจนว่าผมสนับสนุนกัญชาเพื่อการแพทย์ แต่ควรควบคุมขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านกัญชาเพื่อนันทนาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ที่กำลังพิจารณาผ่านกฎหมายกัญชาก็มีมุมมองในรูปแบบใกล้เคียงกับผม

เอาล่ะครับ ทีนี้ถ้าเราสนใจอยากลงทุนหุ้นกัญชา เราควรต้องดูอะไรกันบ้าง..?

เทรดที่ไหน ?

เริ่มจากตลาดหุ้นที่มีหุ้นกัญชาลิสต์อยู่ก่อน ผมแนะนำตลาดหลัก ๆ คือ

  • Toronto Stock Exchange (TSE) ตลาดหุ้นหลักของแคนาดามีหุ้นกัญชาลิสต์อยู่เยอะ เพราะแคนาดาเป็นประเทศที่กัญชาถูกกฎหมายและสนับสนุนธุรกิจกัญชาเพื่อการแแพทย์เป็นประเทศแรก ๆ
  • New York Stock Exchange (NYSE) ตลาดหุ้นนิวยอร์คของสหรัฐอเมริกา รายนี้มาทีหลัง หลายบริษัทลิสต์ใน TSE อยู่แล้ว แต่พอ NYSE ยอมให้ลิสต์ก็ค่อยลิสต์เข้า NYSE อีกที ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้าเวลาเราหาข้อมูลแล้วเจอหุ้นบริษัทเดียวกันในทั้งสองตลาด (ราคาหุ้นทั้งสองตลาดโดยมากก็จะวิ่งสอดคล้องกัน)
  • NASDAQ ตลาดหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ประเด็นคล้าย NYSE คือเพิ่งอนุญาตให้ลิสต์หุ้นกัญชาในช่วงหลังนี้เอง
  • Over the Counter (OTC) ในช่วงแรก ๆ ที่ตลาดหุ้นใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง NYSE หรือ NASDAQ ยังไม่อนุญาตให้ลิสต์หุ้นกัญชา ทำให้มีธุรกิจกัญชาจำนวนมากเข้าไปลิสต์ในตลาดรองอย่างตลาด OTC อย่างคึกคัก หัวใจสำคัญที่เราต้องเข้าใจคือตลาด OTC มีกฎการเข้าตลาดที่ค่อนข้างผ่อนปรนมาก (บางบริษัททุนติดลบ ไม่มีรายได้ ยังอุตส่าห์ลิสต์ได้ เรียกได้ว่ากฎอ่อนกว่าตลาด MAI บ้านเราซะอีกครับ) ดังนั้นการที่บริษัทลิสต์ใน OTC จึงมีประเด็นเรื่องความแข็งแรงทางการเงินที่เราต้องพิจารณาด้วย เพราะมีบริษัทขยะจำนวนมากที่ลิสต์ในตลาดนี้ ดังนั้นถ้าเราสนใจในหุ้นกัญชาในตลาด OTC ต้องทำการบ้านให้ดีว่าลิสต์เข้า OTC เพียงเพราะเป็นหุ้นขยะ หรือว่าลิสต์เข้า OTC เพราะตอนนั้นยังไม่สามารถลิสต์เข้าตลาดหลักได้ ลองศึกษางบการเงินย้อนหลังให้ดีครับ

เทรดอย่างไร ?

พอเราสนใจธุรกิจไหนก็ลองหาข้อมูลว่าธุรกิจนั้น ๆ ลิสต์อยู่ในตลาดไหนแล้วก็ลุยเลย ถ้าคุณต้องการเทรดหุ้นกัญชาจากเมืองไทย ก็มีอยู่ 2 วิธี

  • เปิดบัญชี Offshore กับบริษัทหลักทรัพย์ในไทย อันนี้ทำได้ง่ายแต่ต้นทุนการเทรดค่อนข้างสูง หลายโบรกคิดค่าคอมแพงพอสมควร น่าจะอยู่ในช่วง 0.3-0.4% (ล้านละ 3,000-4,000 บาท)
  • เปิดบัญชีเทรดจากโบรกเกอร์ต่างประเทศ เช่น Interactive Broker, Saxo หรือ Avantis Global ธุรกิจใหม่ของเอวาที่จะเริ่มให้บริการในปี 2020 ครับ

เทรดอะไร ?

เรามาแบ่งหุ้นกัญชาออกเป็นเซกเตอร์ย่อยกันก่อน จริง ๆ แล้วเวลาพูดถึงกัญชา หลายคนมักจะสนใจในเรื่องการ “ปลูกกัญชา (Weed Grower)” แต่อันที่จริงธุรกิจกัญชาเป็นห่วงโซ่อุปทานที่ยาวตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำเลยครับ เรามาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

ผู้ปลูก (Grower) บริษัทที่เป็นผู้ปลูกกัญชา ก็ตามชื่อเลยครับ ธุรกิจหลักคือการปลูกรวมถึงแปรรูปเป็นน้ำมันกัญชาด้วย ตัวอย่างบริษัทเด่น ๆ คือ Canopy Growth (CGC:NYSE, WEED:TSE) เป็นฟาร์มกัญชาที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดา มีการขยายธุรกิจไปในหลายประเทศ, Aurora Cannabis (ACB:NYSE, ACB:TSE), Acreage Holdings (ACRGF:OTC), Cronos Group (CRON:NASDAQ) และ Tilray (TLRY:NASDAQ)

สิ่งที่คุณควรเข้าใจก็คือ ผู้ปลูกมีธุรกิจเริ่มต้นหลักคือการปลูกต้นกัญชา และเก็บเกี่ยวดอกเพื่อผลิตเป็นน้ำมันกัญชา แต่การ Projection Revenue ของธุรกิจ Grower นั้นไม่ได้ตรงไปตรงมาแบบที่คนทั่วไปคิดกันนะครับ บางคนแค่คำนวนว่าอนาคตบริษัทจะกว้านซื้อที่เท่าไหร่ มีเนื้อที่กี่เอเคอร์ ปลูกได้ผลผลิตกี่กิโลต่อเอเคอร์ แล้วก็คำนวนกลับไปเป็น Revenue แบบตรง ๆ เลย ซึ่งจริง ๆ แล้วทำแบบนั้นไม่ได้

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจข้อเท็จจริงทางเศรษฐศาสตร์กันก่อน ผมยกประเด็นที่เคยเขียนใน AHEAD ASIA มาตรงนี้อีกรอบ ที่กัญชาแพงไม่ได้เป็นเพราะมันปลูกยากหรือหายากแบบพวกเห็ดทรัฟเฟิลหรือมัสซึทาเกะ แต่ที่แพงเพราะมันผิดกฏหมาย และคุณสมบัติของมัน ทำให้ Supply จำกัด ตามหลักเศรษฐศาสตร์ เมื่อ Supply น้อย ของหายาก ราคาก็จะสูงขึ้นจากความแตกต่างของ Demand และ Supply ทำให้สารสกัดจากกัญชาในยุคปัจจุบันซื้อขายกันในราคาสูงระดับกิโลละ 400,000-600,000 บาทโดยประมาณ ดังนั้น เมื่อแนวโน้ม Mega Trend ทำให้เกิดการปลูกัญชาอย่างถูกกฎหมาย ในระยะยาว Supply ของกัญชาทั่วโลกก็จะเพิ่มขึ้นมาก จนสุดท้ายแม้ Demand จะมากขนาดไหน แต่การเพิ่มแบบ Exponential ของ Supply แล้วแนวโน้มราคาก็จะถูกลงในที่สุด ไม่ต่างจากพืชเศรษฐกิจอื่นๆ

ดังนั้นเตรียมใจพบกับปัญหา “กัญชาล้นตลาด” กันได้เลย

ผมยกตัวอย่างกรณีศึกษาคลาสสิกคือเรื่องของโกโก้ ในช่วงเข้าศตวรรษที่ 21 ประเทศจีนมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดนับ 10 ปีติดต่อกัน ทำให้คุณภาพชีวิตของคนจีนดีขึ้นตามลำดับ สร้างคนกลุ่มใหม่ในจีนคือ ชนชั้นกลางผู้มีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น คนกลุ่มนี้เริ่มสนใจการบริโภคอาหารเพื่อความสุขมากขึ้น ต่างจากในอดีตที่บริโภคเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น นั่นเป็นเหตุผลให้คนจีนมีการบริโภคของหวานและขนมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และสินค้าโภคภัณฑ์ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปนี้ก็คือ โกโก้ (Cocoa) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตช็อกโกแลต อาหารเพื่อความสุขยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลก

นับตั้งแต่ปี 2001 ราคาช็อกโกแลตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี จนกระทั่งเกษตรกรจำนวนมากแห่กันปลูกโกโก้จนกระทั่งเกิดภาวะโกโก้ล้นตลาด หรือ Supply สูงขึ้นเกินกว่า Demand

หลังจากนั้นราคาโกโก้ก็ตกต่ำอย่างรุนแรง ทำให้เกษตรกรจำนวนมากถอดใจเลิกปลูกโกโก้ และเมื่อ Supply ของโกโก้เริ่มลดลง ราคาก็กลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง นี่คือวงจรราคาสินค้าโภคภัณฑ์ครับ คือขึ้นแรงและลงเร็ว ตราบใดที่ Demand เพิ่มตาม Supply ไม่ทัน ในระยะยาวราคาก็จะมีแต่ลง กัญชาก็ไม่ต่างไปจากพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ นี่เป็นปัญหาสำคัญที่เหล่า Grower รู้ซึ้งกันดี ดังนั้นพวกเขาจึงมีกระบวนการป้องกันปัญหาอยู่หลายวิธี เช่น

บริหารต้นทุนหน้าฟาร์ม (Cash Cost) บริษัทที่สามารถบริหารต้นทุนหน้าฟาร์มได้ต่ำที่สุด จะได้ส่วนต่างกำไร (Margin) มากกว่า แต่การจะลดต้นทุนการปลูกโดยมากก็จำเป็นต้องมีการลงทุนในด้านนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการควบคุมสภาพแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีอย่าง Smart Farm IoT ดังนั้นเวลาเราดูงบการเงิน เราต้องมองหาส่วนของ Cash Cost ให้เจอ เพื่อให้เข้าใจต้นทุนการผลิตที่แท้จริงว่าบริษัทสู้กับคู่แข่งได้ได้หรือไม่

ตัวอย่างในภาพเป็น Cash Cost ของ Aurora สังเกตว่ามีเลขกระโดดใน Q2 2019 ด้วยเหตุผลที่เค้าอธิบายว่า ต้นทุนเพิ่มชั่วคราวจากการพยายามขยายการผลิตให้ Full Scale

Niran Pravithana

Author Niran Pravithana

CEO of Market Anyware

More posts by Niran Pravithana