Posted : 14 Aug 2020

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2020 กองกำลังสหรัฐซึ่งนำด้วย “ โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิปดีของสหรัฐอเมริกา ได้มีคำสั่งปฏิบัติการทางทหารเพื่อลอบสังหาร “พลตรี คัสเซม โซไลมานี” ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ของหน่วย ปฏิบัติการพิเศษของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone Strike) บริเวณท่าอากาศยานนานาชาติกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก ทำให้ชนวนแห่งความขัดแย้งได้ก่อตัวรุนแรงขึ้นอีกครั้งในรอบหลายสิบปี หลังจากคนอิหร่านได้จับชาวอเมริกัน 52 คนเป็นตัวประกันเมื่อปี 1979

 ภายหลังจากเกิดเหตุดังกล่าว ราคาน้ำมันดิบ (Brent) พุ่งทะยานขึ้นไปถึง 4 เปอร์เซนต์ ไปอยู่ที่ 69.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ (2,095 บาท) และราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,600 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งสวนทางกับหุ้นทั่วโลก

คัสเซม โซไลมานี มีความสำคัญอย่างไร ?

พลตรีโซไลมานี เป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดรองจาก อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่านและมีความใกล้ชิดกัน โซไลมานีได้เริ่มเติบโตจากการเป็นทหารในระหว่างที่มีสงคราม อิหร่าน-อิรัก เมื่อต้นทศวรรษ 1980  โดยต่อสู้กับซัดดัม ฮุสเซน และช่วยเหลือกลุ่มชาวเคิร์ดกับกลุ่มมุสลิมชีอะห์ เป็นคนที่ทำให้อิหร่านมีอิทธิพลมากในฝั่งตะวันออกกลาง ไซโลมานีทำงานอยู่เบื้องหลังการปฏิบัติการจนได้รับฉายาว่า “ผู้บัญชาการ ในเงามืด” เป็นบุคคลที่มีความสำคัญทางการทหารของอิหร่าน สำหรับโลกมุสลิมแล้ว  ไซโลมานีได้ถูกยกย่องเป็น “วีรบุรุษ” สงคราม

ในทางกลับกันในฝั่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าไซโลมานีได้ให้การส่งเสริมการก่อการร้ายเพื่อสร้างปัญหาให้พันธมิตรของสหรัฐ เช่น ซาอุดีอาระเบีย หรือ อิสราเอล อีกทั้งพยายามขยายอธิพลของอิหร่านด้วยการทำภารกิจลับ พัฒนาอาวุธ หาอาวุธ และติดอาวุธให้กับกลุ่มหัวรุนแรงที่เป็นเครือข่ายของอิหร่าน เช่น กลุ่มมุสลิมชีอะห์ กลุ่มชาวเคิร์ด หรือแม้กระทั่งกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ และอยู่เบื้องหลังการโจมตีกองทัพสหรัฐอเมริกาหลายครั้ง ทำให้มีผู้เกี่ยวข้องล้มตายอย่างมากมาย

สถานการณ์อาจยืดเยื้อ  เนื่องจากอิหร่านถูกเรียกว่าเป็นศาสนรัฐซึ่งนักปกครองเป็นเสมือนผู้นำทางศาสนาเช่นกัน เและประเทศขับเคลื่อนได้ด้วยศาสนาซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนส่วนใหญ่ การตายของโซไลมานีจึงไม่เพียงแต่เป็นเรื่องการเมือง แต่มันพัวพันไปถึงศาสนาด้วย เหตุนี้จึงทำให้สถานการณ์ทวีความรุนแรง มีการชักธงแดงขึ้นสู่ยอดเสาหลังคาสุเหร่าในรอบ 1,000 ปี แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าจะมีการโต้ตอบกลับไปอย่างสมน้ำสมเนื้อ

เหตุการณ์จะบานปลายไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่ ?

สหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวจากการทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านที่ทำไว้ร่วมกับชาติมหาอำนาจอื่น ๆ เมื่อเดือน พ.ค. ปี 2018 และกล่าวหาว่าอิหร่านได้สนับสนุนการก่อการร้าย อย่างไรก็ตามเมื่อสัญญาได้ถูกยกเลิกไป อิหร่านจึงมีสิทธิที่จะผลิตและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์พร้อมใช้ได้ภายในสองปี โดยเพิ่มกำลังการผลิตแร่ยูเรเนียมให้มากขึ้น เพราะอิหร่านมีทรัพยากรที่เพียงพอ  และความทะเยอทะยานนั้นยังคงมีอยู่

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ปัญหาในประเทศอิหร่านนั้นมีหลากหลาย ทั้งเศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของประชาชนที่รัฐบาลไม่สามารถทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นได้เพราะการถูกคว่ำบาตรทางการค้าน้ำมัน เนื่องจากอิหร่านค้าน้ำมันเป็นหลักจึงทำให้กระทบระบบเศรษฐกิจโดยรวม ซ้ำร้ายทุนสำรองระหว่างประเทศก็ได้ถูกใช้ไปอยู่เรื่อย ๆ

ปี 2020 จึงเป็นปีที่ยากเย็นสำหรับอิหร่านที่จะตัดสินใจแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน หรือจะเดินเครื่องพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อ อย่างไรก็ตาม หากอิหร่านต้องการเดินหน้าเรื่องพัฒนาอาวุธ จะมีความเป็นไปได้ที่โครงการจะแล้วเสร็จปลายปีนี้

ผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยหากเกิดสงคราม ?

หากจะดูถึงเหตุการณ์ภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อหุ้นไทย เรามาดูกันว่าตลาดหุ้นไทยในอดีตเมื่อเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันจะเป็นอย่างไร  AVA ขอไล่เรียงอดีตตลาดหุ้นไทยที่ตกต่ำอย่างรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อเป็นการเปรียบเทียบสถานการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละสภาวะตลาด

Black Monday

จากปี 1987 เราเจอกับ Black Monday SET เริ่มต้นปีที่ 200 จุด วิ่งไปสุดที่ 450 จุด แล้วเจอ Black Monday กลับลงมาที่ 250 จุด เริ่มแรกคือตลาดร่วงลงไป  8% และร่วงลงไปอีกกว่า 40% นับจากเหตุการณ์ Black Monday ไม่ถึงสองเดือนเท่านั้น

Black Monday

จากปี 1987 เราเจอกับ Black Monday SET เริ่มต้นปีที่ 200 จุด วิ่งไปสุดที่ 450 จุด แล้วเจอ Black Monday กลับลงมาที่ 250 จุด เริ่มแรกคือตลาดร่วงลงไป  8% และร่วงลงไปอีกกว่า 40% นับจากเหตุการณ์ Black Monday ไม่ถึงสองเดือนเท่านั้น

สงครามอ่าวเปอร์เซีย

เป็นสงครามที่สหรัฐอเมริการ่วมกับพันธมิตรอีก 34 ชาติ ต่อต้านอิรักเนื่องมาจากการบุกยึดครองคูเวตช่วงปี 1990-1991 ทำให้ SET ปรับตัวลงจาก 1,143 จุด ไปต่ำสุดที่ 598 จุด หรือประมาณ 52 %

เหตุวินาศกรรม (9/11)

เหตุวินาศกรรม 11 กันยายน เป็นการโจมตีแบบพลีชีพบนผืนดินของประเทศสหรัฐอเมริกา  ที่ New York และ Washington, D.C. ทำให้ SET ปรับตัวลงไปจาก 330 จุดลงไปถึง 266 จุด ในระยะเวลาประมาณ 2 เดือน หรือประมาณ 19 %

Hamburger Crisis

วิกฤติภาวะฟองสบู่แตกของสหรัฐอเมริกาที่เริ่มมาจากสินเชื่ออสังหาในช่วงปี 2005 -2006 ทำให้ปัญหาทางการเงินลุกลามและบานปลายในช่วงปี 2008 โดย SET ปรับตัวจาก 842 จุดต้นปี 2008 ลงไปถึง 449 จุดถึงปลายปีหรือประมาณ 46 %

คุณเห็นอะไรบ้างไหม ?

เมื่อดูจากหลาย ๆ ครั้งที่เกิดเหตุการณ์ในอดีต ปัจจัยภายนอกจะให้ผลลัพท์ที่รุนแรงไม่แพ้ภายใน เพียงแต่เหตุการณ์ที่จะทำให้ส่งผลกระทบในตลาดได้แย่ที่สุดคงหนีไม่พ้นสภาวะสงครามและวิกฤติการเงินนั่นเอง แต่สองสถานการณ์จะมีความแตกต่างกันคือ สงครามจะฟื้นตัวช้ากว่าวิกฤติการเงิน ซึ่งวิกฤติการเงินพอจบไปแล้ว ตลาดจะเปลี่ยนจากหมีเป็นกระทิงอย่างทันทีและยาวนาน ส่วนเหตุการณ์ก่อการร้ายมีผลเสียต่อตลาดหุ้นเช่นกัน แต่จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น จากนั้นจะฟื้นตัวกลับมาได้

ถ้าหากเราจะเทียบสิ่งที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้คงหนีไม่พ้นสงครามอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นสงครามในตะวันออกกลางที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ความรุนแรงและยืดเยื้อนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้นานาประเทศต่างไม่เห็นด้วยกับสงครามเหมือนเมื่อก่อน เพราะผลเสียจะกระทบเป็นวงกว้างได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ได้เลือกข้างและคอยดูอยู่ห่าง ๆ ผลกระทบของความเสียหายจากสงคราม จึงไม่ควรเกิดเป็นวงกว้างทั่วโลกเหมือนเมื่อก่อน จึงอาจจะทำให้ตลาดหุ้นไม่ไหลลงไปอย่างรุนแรงเหมือนในอดีต หลายฝ่ายอยากให้ทั้งสหรัฐอเมริกาและอิหร่านหาทางออกด้วยสันติวิธี เช่น การเจรจา การฑูต ฯลฯ แต่ทั้งนี้ อิหร่านคงจะยังไม่จบโดยง่ายเช่นกัน ดังนั้น สถานการณ์ความขัดแย้งทางตะวันออกกลางจึงต้องจำเป็นต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

AVA Advisor

Author AVA Advisor

More posts by AVA Advisor