Posted : 20 Aug 2020

เพื่อความต่อเนื่องของเนื้อหา ท่านสามารถย้อนกลับไป

อ่านบทความตอนที่ 1 ได้ “ที่นี่”

อ่านบทความตอนที่ 2 ได้ “ที่นี่”

** เช่นเดียวกับตอนที่ 1 และ 2 บทความนี้ผมเขียนช่วง 5 ปีที่แล้ว ในปี 2015 ในช่วงที่ผู้คนกำลังสงสัยว่า สหรัฐอเมริกา QE มากมายมาตั้งแต่ปี 2008 แต่ทำไมเงินดอลล่าร์ถึงไม่เฟ้อ ในช่วงหลังจากที่ผมโพส ทาง FED ปรับดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นสวนทางประเทศอื่นๆ ในโลกที่ดอกเบี้ยเป็นขาลง ทำไมต้องขึ้นดอกเบี้ย ผมเขียนอธิบายไว้ในโพสนี้ครับ **

  PS. ในภาพคือ Fed Fund Rate เทียบกับ S&P 500

 ทำไมอเมริกาต้องขึ้นดอกเบี้ย?

  “เงิน” ในระบบเศรษฐกิจโลกยุคนี้มีความผิดปกติอยู่หลายเรื่อง

1. ปริมาณเงินในโลกนี้มันเพิ่มขึ้นเยอะมากจาก QE แต่ “บทบาทที่แท้จริงของเงิน” ในยุคนี้ที่พิมพ์ออกมากลับไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อการซื้อขายสินค้า (Medium of Exchange) แต่มีไว้เพื่อเป็นอาวุธในการเก็งกำไร

2. ดังนั้นเมื่อเราพยายามคาดการณ์อนาคต โดยยึดติดกับ “บริบทของเงิน” ในอดีต ผลลัพธ์จึงผิดพลาด เพราะเงินที่พิมพ์ออกมามันไม่ได้ไหลมาสู่โลกแห่งการซื้อขายสินค้า แต่กลับไหลไปอยู่ในโลกอีกฟากหนึ่งที่พวกเราไม่คุ้นเคย (พิมพ์เงินแต่เงินกลับไม่เฟ้อ เศรษฐกิจกลับไม่ฟื้น)

3. แถมยุคนี้เงินมันไม่ได้ไหลเวียนอยู่ในประเทศๆ เดียวเหมือนในอดีต แต่มันหมุนเวียนไหลไปมาในระบบเศรษฐกิจโลกจากที่หนึ่งไปยังอีกทีหนึ่งในคลิกเดียว ตามผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนตลาดทุนในโลกยุคโลกาภิวัฒน์

เช่น การที่หุ้นจะขึ้นหรือจะลงในยุคนี้ ในระยะสั้นมันแทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศ หรือพื้นฐานของบริษัทอีกแล้ว (สังเกตได้จากหุ้นเด้งช่วงเมษา 2020) แต่มันมาจากผลลัพธ์ของ Capital Flow ที่ไหลเข้าไหลออกตามสถานการณ์ต่างหาก (ดังนั้นในระยะสั้น ถ้าคุณเป็น VI คุณจะต้องทนความผันผวนที่มากยิ่งกว่าที่เคยเจอในอดีตให้ได้)

เมื่อเงินไหลไปอยู่ในโลกการลงทุน แทนที่ QE จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ เลยกลับทำให้เงินฝืดอย่างรุนแรงไปแทน เมื่อโลกพลิกกลับตาลปัตรแบบนี้ อนาคตของโลกจะไปทางไหน ?

เศรษฐกิจโลกจะมีปัญหาไม่ใช่จากการด้อยค่าของเงินที่พิมพ์ออกมาจำนวนมากหรอกครับ แต่ระเบิดเวลา มันอยู่ที่หนี้ภาครัฐที่มากจนเกินกว่าที่จะจัดการได้ต่างหาก

– สหรัฐอเมริกามีหนี้ในและนอกงบประมาณงอกมามากกว่า $90 ล้านล้าน
– ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะ $10 ล้านล้าน
– กลุ่มยูโรมีหนี้สาธารณะมากกว่า €12 ล้านล้าน

และทุกประเทศหนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่มีทีท่าว่าจะชลอ (อย่าลืมว่าเลขทั้งหมดข้างบนคือหนี้เมื่อปี 2015)

รัฐบาลส่วนใหญ่ ทำยังไงกับปัญหานี้?

เมื่อคุณต้องขอยืมเงินคนอื่นจำนวนมาก ๆ แบบรัฐบาลทั่วโลกเป็นอยู่ขณะนี้ วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดภาระให้คุณได้ก็คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ควรจะต้องต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้

อัตราดอกเบี้ยของโลกยุคนี้จึงต่ำติดดิน

#สหรัฐอเมริกามีอัตราดอกเบี้ย 0.25%
#ญี่ปุ่นมีอัตราดอกเบี้ย 0%
#เยอรมันมีอัตราดอกเบี้ย 0.05%
#สวิสเซอแลนด์มีอัตราดอกเบี้ย -0.75%..!! หรือพูดอีกแง่ ถ้าคุณให้รัฐบาลสวิสกู้เงิน คุณจะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้รัฐ!!?!

โลกเรากำลังเข้าใกล้ยุคแห่ง NIRP: Negative Interest Rate Policy เข้าไปทุกที ๆ แล้วครับ (อย่าลืมว่าเลขทั้งหมดข้างบนคืออัตราดอกเบี้ยเมื่อปี 2015 ตอนนั้นยังไม่ NIRP แต่ปัจจุบัน NIRP มาเยือนเศรษฐกิจโลกเรียบร้อย) พออัตราดอกเบี้ยถูก รัฐบาลก็กู้สนุกมือ แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำนานหลาย ๆ ปีเข้า ความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจก็จะตามมาครับ เพราะจะมีแต่การกู้ ๆๆ จนหนี้สินท่วมล้นพ้นตัว ไม่มีปัญญาจะใช้คืน (ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน) เมื่อหนี้มาก เศรษฐกิจก็เปราะบาง และหากเกิดปัญหาอะไรมากระทบเพียงเล็กน้อยฟองสบู่หนี้ก็สามารถแตกได้ทุกเมื่อ (เช่นไทยตอนต้มยำกุ้ง พอลอยค่าเงินบาท พวกหนี้สินที่เป็นเงินดอลล่าห์ก็เพิ่มพรวดหนึ่งเท่าตัวทันที เอกชนจำนวนมากล้มทั้งยืน)

กลับมาเรื่องอเมริกาต่อ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากขนาดนี้มาเป็นเวลาร่วม ๆ สิบปี ทำให้เกิดการส่งออก (ปล่อยกู้) ดอลล่าห์จำนวนมากไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนามีการกู้ดอลล่าห์จำนวนมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ไม่มีทางที่อเมริกาจะรักษาอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำขนาดนี้ไว้ได้นาน ๆ ปัญหาแรกที่อเมริกาจะเจอคือ พวกกองทุนสวัสดิการของรัฐจะประสบปัญหาเรื่องผลตอบแทน คือโดยปกติกองทุนเหล่านี้จะต้องเอาเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ซึ่งก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นการให้เงินรัฐบาลกู้ (คือซื้อพันธบัตรรัฐบาลนั่นเอง) แต่ผลตอบแทนของพันธบัตรที่ต่ำมาก ทำให้กองทุนสวัสดิการเหล่านี้มีความเสี่ยงจะล้ม เพราะไม่สามารถเพิ่มฐานทุนได้มากพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในสังคมแห่งผู้สูงอายุที่รายจ่ายสวัสดิการจะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ครับ เพราะประชาชนคนอเมริกันจำนวนมากที่เอาชีวิตแขวนบนสวัสดิการรัฐ อเมริกาจะยอมให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะความเชื่อมั่นในรัฐบาลจะถูกทำลาย และอาจจะเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ตามมา แถมการพิมพ์เงินของ FED ก็ไม่ได้ช่วยให้เกิดเงินเฟ้ออย่างที่ควรจะเป็น เพราะแทนที่ปริมาณเงินที่มากขึ้นจะไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา มันกลับไหลออกไปเก็งกำไรในตลาดทั่วโลก การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ผลอย่างที่คาดไว้

หนักไปกว่านั้น ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจอเมริกายังไม่ฟื้นตัวอย่างที่ควรจะเป็น ตลาดหุ้นกลับร้อนแรง จากสภาพคล่องที่ล้นเหลือที่เกิดจากการพิมพ์เงิน (เงินไม่ถูกอัดฉีดไปที่ Real Sector เพราะความเสี่ยงสูง แต่กลับถูกอัดฉีดเข้าไปที่ตลาดหุ้นแทน เศรษฐกิจแย่ แต่หุ้นขึ้น) อาการนี้คล้าย ๆ กับสถานการณ์ที่เกิดในอเมริกาช่วงก่อนวิกฤติ The Great Depression ที่ FED ลดดอกเบี้ยจากระดับ 7% มาเหลือ 3% ในระหว่างปี 1921-1927 หุ้นใน Wall Street วิ่งอย่างร้อนแรงตลอดหลายปีติดต่อกัน

FED จึงเจอปัญหาสองทาง ทางแรกคือ ต้องป้องกันฟองสบู่ที่จะเกิดกับอเมริกา และต้องช่วยเหลือพวกกองทุนสวัสดิการให้อยู่รอดให้ได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ด้วยการ “ขึ้นดอกเบี้ย” ตามทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ เมื่อขึ้นดอกเบี้ย ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจและรัฐก็จะสูงขึ้น จะช่วยลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจได้ เงินทั้งหลายจะถูกดูดซับออกจากระบบเศรษฐกิจ และเมื่อดอกเบี้ยขึ้น กองทุนสวัสดิการทั้งหลายก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น รอดพ้นจากภาวะล้มละลาย แต่ปัญหาที่ตามมาคือ การขึ้นดอกเบี้ย มันจะเป็นทางแก้ปัญหาจริงหรือไม่ ? อัตราดอกเบี้ยของ FED กับเงินทุนทั่วโลกมันเกี่ยวข้องกันยังไง ไว้ผมจะมาเล่าต่อให้ฟังครับ

Niran Pravithana

Author Niran Pravithana

CEO of Market Anyware

More posts by Niran Pravithana