Posted : 20 Aug 2020

ผมอ่านเจอโพสที่รุ่นน้องแชร์เรื่องเกี่ยวกับการสิ้นสุดของยุคการผลิตของ Manufacturing ของไทยใน Facebook แล้วก็เกิดอยากเขียนบทความนี้ขึ้นมา

อนาคตภาคการผลิตของไทยจะไปทางไหน เราถึงจุดจบในภาคการผลิตแล้วจริงหรือไม่..? ที่จริงเราต้องเริ่มย้อนไปที่อดีตก่อน ว่าทำไมประเทศไทยถึงกลายเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของโลกขึ้นมาได้ เหตุผลหลักๆ มันมีอยู่สองสามประการ

การย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น

ก่อนหน้าปี 1985 เศรษฐกิจญี่ปุ่นรุ่งเรืองมากครับ หลังจากปฏิรูปตัวเองหลังพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงนั้นค่าเงินญี่ปุ่นอ่อนตัว ค่าเงินสหรัฐแข็ง (ช่วง 1980s เกิดวิกฤติเงินเฟ้อทั่วโลกจากปฏิวัติในอิหร่าน ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มกระฉูด จนสหรัฐอเมริกาต้องเพิ่งกระชากอัตราดอกเบี้ยรวดเดียวเกือบ 20% ยื้อชีวิตค่าเงินดอลล่าร์ ทำให้เงินสหรัฐแข็งค่าอย่างรวดเร็ว) ทำให้การส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นเติบโตติดๆ กันหลายปี พร้อมนวัตกรรมใหม่ๆ ของประเทศญี่ปุ่นที่ส่งขายดีไปทั่วโลก ทั้งรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้ช่วงนั้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นดูมีอนาคตสดใสมาก ดัชนีหุ้นร้อนแรงสุดขีด

กลับกันกับอเมริกาเมื่อสู้เพื่อยื้อชีวิตดอลล่าห์สำเร็จ ต้องแลกมาด้วยเศรษฐกิจที่ตกต่ำเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และค่าเงินดอลล่าร์ที่แข็งขึ้น

คนจำนวนมากเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นน่าจะแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกด้วยซ้ำ เพราะช่วงนั้นอเมริกาเพิ่งฟื้นเมาหมัดจากวิกฤติเงินเฟ้อ อาการยังลูกผีลูกคนประเทศญี่ปุ่นจึงโดนสหรัฐอเมริกาบีบด้วยข้อตกลง Plaza Accord ให้ต้องปรับค่าเงินตัวเองให้แข็งขึ้นเท่าตัว พูดง่ายๆ ว่าเงินดอลล่าร์เมื่อเทียบกับเงินเยนอ่อนลงถึง 50 % แบบผิดธรรมชาติ

สังเกตช่วงปี 1985 ค่าเงินเยนแข็งตัวแบบกระโดดจาก 250 เยนต่อ 1 ดอลล่าร์เหลือแค่ 120 เยนต่อ 1 ดอลล่าร์ในช่วงปี 1987

1 ดอลล่าร์ในช่วง 1985 แลกได้ 260 เยนครับ พอโดน Plaza Accord เข้าไป 3 ปี 1 ดอลล่าร์แลกได้เพียง 120 เยน..!!

เมื่อเงินเยนแข็ง ญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องใช้นโยบายย้ายฐานการผลิตออกจากญี่ปุ่น เพื่ออาศัยความได้เปรียบของค่าเงิน จุดเริ่มต้นของเรื่องราวมาจากตรงนี้

ข้อได้เปรียบเรื่องค่าแรง

สิ่งที่ญี่ปุ่นมองหาคือประเทศที่ค่าเงินอ่อนและค่าแรงถูก เพื่อจะใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนได้ ซึ่งประเทศในแถบอาเซียนโดยเฉพาะไทยมีลักษณะตรงกับที่ญี่ปุ่นมองหา การย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 90

ค่าแรงขั้นต่ำของไทยในยุค 80 อยู่ราวๆ 50-70 บาทต่อวันเท่านั้นเอง
เทียบกับเงินบาท เงินญี่ปุ่นแข็งค่าต่อเนื่องมาโดยตลอด จากยุคอดีต 100 เยนแลกได้เพียงแค่ 6 บาท จนถึงปัจจุบัน 100 เยนแลกได้ประมาณ 28 บาท

เศรษฐกิจไทยเติบโตพุ่งแรงติดอันดับโลกหลายปีติดต่อกันตั้งแต่ตอนนั้น จนถึงยุคหนึ่งไทยได้รับการขนานนามว่าเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย ก่อนการดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาดจนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในช่วงปี 1994

ทำเลศูนย์กลางการขนส่งของโลก

ด้วยภูมิศาสตร์ของประเทศไทย เป็นจุดได้เปรียบในการขนส่งสินค้า จึงเหมาะเป็นฐานการผลิตที่จะสามารถเคลื่อนย้ายสินค้าไปได้ทั่วโลก ในยุคที่การบริโภคทั่วโลกเติบโต ทำให้จุดนี้กลายเป็นข้อได้เปรียบของไทยอีกข้อหนึ่งที่ทำให้ฐานการผลิตของประเทศต่าง ๆ เริ่มย้ายมาไทยมาขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มจากญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้

แต่เมื่อเรามามองการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเราจะเริ่มเห็นได้ว่า ข้อได้เปรียบต่าง ๆ ของประเทศไทยนั้น เริ่มหายไปอย่างสมบูรณ์แล้ว แต่กลับกัน ข้อเสียทุกอย่างของเรายังคงอยู่ครบ

การขาดนวัตกรรม และการเพิ่มมูลค่าการผลิตของไทย

แต่แม้ไทยจะกลายเป็นฐานการผลิตของโลกมาหลายสิบปี สุดท้ายแล้วไทยยังคงไม่สามารถยกระดับตัวเองมาเป็นผู้ผลิตได้ เนื่องจากไทยเน้นย้ำการรับจ้างผลิต โดยไม่มีการถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิตที่มากพอ รวมถึงไทยเองยังขาดนวัตกรรมที่จะยกระดับสินค้าของไทยให้เป็นสินค้าที่แข่งขันได้ในระดับโลก ยังคงวนเวียนอยู่กับการรับจ้างผลิตราคาถูกมาตลอด

แนวโน้มของรถยนต์ไฟฟ้าที่จะมาแทนรถยนต์สันดาป

และเมื่อถึงจุดที่นวัตกรรมมีการก้าวกระโดด (เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า) ไทยก็เสียโอกาสในการไล่ตามนวัตกรรมใหม่ ๆ และสูญโอกาสในการเป็นแหล่งผลิตนวัตกรรมใหม่ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะไทยยังคงวนเวียนอยู่กับการผลิตนวัตกรรมเดิม (รถยนต์ระบบสันดาป ในขณะที่ทั่วโลกเริ่มลดและยุติการผลิตรถยนต์ระบบสันดาปแล้ว)

ค่าเงินที่มีแนวโน้มแข็งขึ้น

อาจจะเป็นปัญหาชั่วคราว หรืออาจจะเป็นปัญหาระยะยาวผมก็ไม่อาจทราบได้ แต่ตามทฤษฏีเศรษฐศาสตร์แล้วประเทศเล็ก ๆ มีแนวโน้มสูงที่จะมีค่าเงินที่แข็งขึ้นในระยะยาว จากการที่ประเทศมหาอำนาจมี power ที่จะใช้นโยบายการเงินแปลก ๆ เพื่อแทรกแซงค่าเงินของตนเองให้อ่อน เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ (เช่น การออก QE หรือการเพิ่มปริมาณเงิน)

ซึ่งการแนวโน้มการแข็งขึ้นของค่าเงินของประเทศเล็ก ๆ อย่างไทยเป็น new normal ปัญหาที่จะตามมาคือ ความสามารถทางการแข่งขันก็จะลดลงอีก

แรงงานราคาถูกกำลังจะหมดไป

การเพิ่มขึ้นของแรงงานขั้นต่ำของไทย ไม่สอดคล้องกับฝีมือแรงงาน และทักษะของแรงงานไทย เมื่อเทียบกับคู่แข่งซึ่งค่าแรงยังต่ำกว่า แต่ทักษะแรงงานกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างเวียดนาม ทำให้โอกาสทางการแข่งขันของไทยก็จะสูญเสียไปอีก

ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแรงงานของไทย ที่ถือได้ว่าเข้าสู่ยุค Aging Society อย่างเต็มรูปแบบแล้ว จำนวนแรงงานเริ่มลดลง ยิ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอย่างเลี่ยงไม่ได้

และหนักไปกว่านั้นในเรื่อง Demand Side ประเทศผู้ผลิตใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือเกาหลีใต้ ตอนนี้กำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านของยุค Automation ซึ่งจะสามารถใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติ ลดการใช้แรงงานมนุษย์ลงได้อย่างต่อเนื่อง (ใครดู Terminator Dark Fate น่าจะสะท้อนใจในประเด็นนี้ไม่มากก็น้อย) พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้วที่จะย้ายฐานการผลิตมาในประเทศไทย เพราะค่าแรงก็ไม่ได้ถูก และพวกเขากำลังจะมีเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการผลิตแทนแรงงานมนุษย์ได้ในประเทศของเขาเอง

การบริโภคบนโลกเริ่มเปลี่ยนไป

ในอดีตไทยเคยได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์ เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตและกระจายสินค้าที่ได้เปรียบในด้าน Logistic แต่สิ่งนั้นเป็นจริงเฉพาะตอนที่การบริโภคของโลกเติบโตแบบในช่วง 20 ปีก่อนเท่านั้น แต่ตอนนี้โลกเราได้เข้าสู่ยุคเงินฝืดขั้นรุนแรง ประเทศเดียวที่การบริโภคยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดดก็คือประเทศจีน

ดังนั้นการย้ายฐานการผลิตไปที่จีนจึงเริ่มกลายเป็นทางเลือกของประเทศผู้ผลิต เพราะข้อได้เปรียบเรื่องการขนส่งสินค้าไปให้กับผู้บริโภค ถ้าอยากขายคนจีน ก็ควรจะต้องผลิตที่จีนสิ เป็นวิธีที่ประหยัดต้นทุน Logistic มากที่สุด (แรงงานจีนไม่ได้ถูกไปกว่าไทยหรอกนะครับ แต่เทคโนโลยีการผลิตที่ดีกว่ามาก ทำให้เขาสามารถลดต้นทุนแรงงานลงไปได้เป็นอย่างมาก)

ถ้ามองในแง่ภาพรวมต่าง ๆ ทั้งหมด จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ความได้เปรียบในภาคการผลิตของไทยนั้น แทบจะหมดสิ้นลงไปแล้ว คำถามสำคัญคือก้าวเดินต่อไปของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ถ้าจุดแข็งที่เรามีมาตลอดหลายสิบปีเริ่มหายไป

ผมคิดว่าถึงเวลาสำคัญที่เราจำเป็นจะต้องรับความจริงและเปลี่ยนแปลงจุดแข็งของประเทศไทยเสียใหม่ การหวังพึ่งภาคการผลิตแบบเดิม ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นความเสี่ยงที่จะพาประเทศไทยไปสู่หายนะอย่างแท้จริง

PS. ในระยะสั้นหลังจากนี้ ถือว่าเรามีโชคดีจากประเด็นสงครามการค้าของจีน-สหรัฐ ที่กลไกผลักดันให้เกิดการย้ายฐานการผลิตและเทคโนโลยีจากจีนมาที่ประเทศไทย แต่ข้อได้เปรียบหรือโอกาสนี้ไม่ได้เกิดจากจุดแข็งของไทย และไม่ใช่ข้อได้เปรียบที่ยั่งยืนเลย

Niran Pravithana

Author Niran Pravithana

CEO of Market Anyware

More posts by Niran Pravithana