Posted : 20 Aug 2020

⏪สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่านตั้งแต่ต้น ท่านสามารถย้อนไปอ่านบทความตอนที่ 1 ก่อนได้ “ที่นี่”

** เช่นเดียวกับตอนที่ 1 บทความนี้ผมเขียนช่วง 5 ปีที่แล้ว ในปี 2015 (ลูกศรสีน้ำเงิน) ในช่วงที่ผู้คนกำลังสงสัยว่า สหรัฐอเมริกา QE มากมายมาตั้งแต่ปี 2008 แต่ทำไมเงินดอลล่าร์ถึงไม่เฟ้อ เอาบทความนี้มาโพสอีกรอบ ในช่วง QE Unlimited จากทั่วโลกครับ หลายคนบอกว่าหลังจากนี้ดอลล่าร์จะเจอกับอภิมหาเงินเฟ้อ หรือ Hyperinflation ประเด็นเดิมๆ ในบริบทใหม่ๆ ผมเองยังเห็นต่างจากประเด็นนี้ หากดอลล่าร์จะ Hyperinflation ยังไงผมก็คิดว่าจะเป็นสกุลหลักสุดท้ายที่จะพังถัดจาก เยน, ยูโร **

นิยามของ Hyperinflation คืออะไร ?

Hyperinflation คือ สถานการณ์ที่ “เงินด้อยค่ามากจนไม่มีใครอยากได้”  เมื่อคุณได้รับเงินมาคุณจะรีบเปลี่ยนมันไปเป็นสินทรัพย์ใดๆ ก็ได้ให้เร็วที่สุด ความเชื่อมั่นของรัฐพังทลาย ไม่มีใครอยากได้เงินแล้ว ดังนั้น ราคาสินค้าจึงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ไข่หนึ่งฟองจากที่เคยขาย 5 บาท ถ้าเงินมันไร้ค่าขนาดนั้นฟองละ 1 ล้านก็ยังไม่มีใครอยากขาย

เศรษฐีที่มีเงินฝากธนาคารล้านบาทจะเหลือมูลค่าเพียงซื้อข้าวได้แค่ 1 มื้อเพียงพริบตา ทุกคนจะแห่ทิ้งเงินสด เพราะไม่มีใครเชื่อมั่นว่าเงินจะมีค่าใช้แลกเปลี่ยนได้อีก และพวกเขาจะกักตุน ( Hoarding) สินทรัพย์ใด ๆ ก็ตามสามารถที่เอาไปแลกปัจจัย 4 ดำรงชีวิตได้

ใครคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง ผมอยากให้ลองไปศึกษาประวัติศาสตร์โลก มี Hyperinflation เกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วนบนโลกใบนี้ นับตั้งแต่

 -ไวมาร์ (เยอรมัน) หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สถิติเงินเฟ้อ 21% ต่อวัน

 -ยูโกสลาเวียตอนแตกประเทศปี 1994 สถิติเงินเฟ้อ 65% ต่อวัน

 -ซิมบับเวช่วงพิมพ์เงินปี 2008 สถิติเงินเฟ้อ 98% ต่อวัน..!!

 -ฮังการีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สถิติเงินเฟ้อ 207% ต่อวัน!!

ข้อมูลพวกนี้หาอ่านได้จากอินเทอร์เนตครับ

สิ่งที่ผมอยากจะเล่าก็คือ ทฤษฏีเงินเฟ้อบอกไว้ว่าการพิมพ์เงิน QE ของมหาอำนาจโลก จะทำให้ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาเกิด Hyperinflation และเงินดอลล่าห์จะล่มสลายในที่สุด หลายปีก่อนผมเคยเชื่ออย่างนั้นครับ.. แต่ตอนนี้ผมยอมรับโดยดุษฏีว่าผมคิดผิด ผมจึงอยากมาแชร์มุมมอง เป็นทางเลือกของข้อมูลอีกซักแหล่งเพื่อที่พวกเราจะมองเห็นภาพที่ชัดมากขึ้นของ “เศรษฐศาสตร์ใหม่” ที่ทฤษฏีเดิม ๆ ในหนังสือใช้ไม่ได้อีกต่อไป

ซิมบับเวพิมพ์เงินอย่างหนักจนประเทศล่มสลาย เมื่อสหรัฐอเมริกากำลังดำเนินรอยตามซิมบับเว ทำไมผลลัพธ์ถึงแตกต่างกัน ?

ก่อนอื่นเราจำเป็นจะต้องนิยามคำว่า “อภิมหาเงินเฟ้อ” หรือ Hyperinflation ให้เข้าใจตรงกันก่อนว่ามันคืออะไร ?

สำหรับผม มันคือการ “หมด” ความเชื่อมั่นของเงินสกุลใดสกุลหนึ่ง มันไม่ใช่แค่เงินเฟ้อรุนแรงธรรมดาอย่างที่เคยเกิดในโลกช่วงทศวรรษที่ 80 (เงินอาจจะเฟ้อถึง 20% หรือ 100%) ตราบใดที่ประชาชนยังเชื่อมั่นในรัฐ ยังต้องการครอบครองเงิน เมื่อนั้นไม่ใช่ Hyperinflation  Hyperinflation คือช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่พร้อมใจทิ้งเงินไปถือสินทรัพย์อื่นอย่างไม่ใยดี ความเชื่อมั่นของรัฐพังทลาย เมื่อนั้นสินทรัพย์ทุกอย่างจะราคาสูงขึ้นในอัตราเร่งไม่ใช่เพราะมูลค่ามันมากขึ้น แต่เป็นเพราะมูลค่าของเงินมันลดต่ำลงจนเหลือ 0

หลังวิกฤติ Hyperinflation จะเกิดการปฏิรูประบบการเงินของประเทศขึ้นใหม่เสมอ มันเป็นจุดที่สกุลเงินเดิมล่มสลายอย่างถาวรแล้ว ค่าเงินสกุลใหม่จะถูกสร้างขึ้นทดแทน ยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศสหลังสงครามปฏิวัติที่เปลี่ยนรากฐานการปกครองของประเทศในปี 1641 ก็เกิด Hyperinflation จนเงินสกุลเดิม Livre Tournois ล่มสลาย รัฐบาลใหม่ของฝรั่งเศสประกาศใช้เงินสกุล Franc ในปี 1795 มาต่อเนื่องหลายร้อยปีจนกระทั่งยกเลิกเงิน Franc เปลี่ยนเป็นเงิน Euro ในปี 1999

ถ้าพูดในศัพท์เศรษฐศาสตร์ การเกิด Hyperinflation คือการเปลี่ยนมือของเงินที่รวดเร็วมากถึงขีดสุด (Velocity of Money เพิ่มสูงขึ้น) หลังการพิมพ์เงิน แต่เรามามองค่าเงินดอลล่าห์กันบ้าง Velocity of Money ของสหรัฐอเมริกาทุกวันนี้ตกต่ำสุดในประวัติศาสตร์ 100 ปี เงินดอลล่าห์ในปี 2015 เปลี่ยนมือช้ามากกว่ายุค The Great Depression ในปี 1929 ซะอีก

มันตรงข้ามกัน!! สหรัฐอเมริกา QE ไม่อั้น แต่คนก็ยังถือครองดอลล่าห์อยู่

สาเหตุหลัก ๆ มาจากหลายประการครับ ที่สหรัฐอเมริกาไม่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ Hyperinflation

1. ทุกคนยังยึดถือดอลล่าห์ – คุณรู้จักเปโตรดอลล่าห์ไหมครับ ? ข้อตกลงของสหรัฐกับกลุ่ม OPEC ที่บีบบังคับให้ทุกประเทศซื้อขายน้ำมันกันด้วยเงินดอลล่าห์เท่านั้น ใครแตกแถวต้องโดนวอร์ ตราบใดที่น้ำมันยังเป็นพลังงานหลักของโลก และการซื้อขายยังอยู่ในรูปเงินดอลล่าห์ Hyperinflation หรือการโยนดอลล่าห์ทิ้งคงไม่เกิดขึ้น

2. ตลาดพันธบัตรยังคงอยู่ – ถ้าคุณเป็นเจ้าหนี้สหรัฐ คุณจะยอมให้สหรัฐล้มละลายไหมครับ ? เงินดอลล่าห์ที่คุณปล่อยให้สหรัฐกู้จะสูญหายไปในพริบตาที่เกิด Hyperinflation  !! ประเทศในโลกที่สามอย่างซิมบับเวเกิด Hyperinflation ได้ง่ายเพราะรัฐบาลพิมพ์เงินออกมาล้างหนี้ ไม่เหลือเจ้าหนี้ ก็ไม่มีใครอยากเห็นค่าของเงินสกุลนี้อีก แต่สหรัฐอเมริกา (ณ ตอนนี้) ไม่ใช่ เจ้าหนี้จะบีบคอลูกหนี้ ตะโกนใส่หน้าว่า เมิงต้องทำทุกวิถีทางที่จะหาเงินให้ได้มากขึ้นมาจ่ายกรู ขึ้นภาษีสิ หารายได้สิ รีดเงินจากประชาชนสิ ดึงเงินจากธุรกิจสิ ทำยังไงก็ได้

หลังจากนี้วิกฤติหนี้ยุโรปน่าจะเริ่มรุนแรงขึ้น เงินยูโรจะถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงจากปัญหาวิกฤติหนี้ภาครัฐที่มีแต่จะหนักขึ้นเรื่อย ๆ Capital Flow จากยุโรปและทั่วโลกจะไหลบ่าเข้าไปที่ดอลล่าห์สหรัฐ ดอลล่าห์จะแข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงวิกฤติการณ์ยุโรป (ผมไม่คิดว่าหยวนของจีนจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ มังกรจีนขึ้นแท่นอันดับหนึ่งแน่นอนครับ แต่ยังต้องใช้เวลาสั่งสมบารมี)

ช่วงเวลาเดียวกับที่ยุโรปพังทลาย ตลาดทุนของประเทศอื่น ๆ ก็จะย่ำแย่เนื่องจาก Capital Flow ไหลบ่าออกไปถือดอลล่าห์ ทองคำจะราคาตกอย่างรุนแรงอาจจะหลุด $1,000 ต่อออนซ์ (ผมยังเชื่อมั่นในทองคำ แต่ในเวลานี้ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ทองคำจะต้องตกหนักอย่างแรงในช่วง Deflation ก่อนจะกลับตัวเป็นขาขึ้นได้หลังวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐมาถึง) ลูกหนี้อย่างประเทศในโลกที่สามประสบภาวะเงินฝืดที่รุนแรงมากขึ้นจากภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการกู้เงินสกุลดอลล่าห์

 

** หมายเหตุ อัพเดทปี 2020 ในช่วงที่ผมเขียนบทความ ประมาณ 6 เดือน ทองคำลงไปทดสอบแถวๆ $1,000 (ลูกศรสีเขียว) แต่ไม่หลุด $1,000 อย่างที่ผมคาดการณ์ แล้วหลายปีหลังจากนั้นทองคำก็กลับเป็นขาขึ้นจริงอย่างที่ผมคิด แต่ทองคำมาพร้อมโรคระบาด Covid-19 ไม่ได้มาจากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐอย่างที่ผมคาดการณ์ **

โลกเราไม่ได้เสี่ยงกับวิกฤติ Hyperinflation อย่างที่กลัวกันหรอกครับ แต่ตรงกันข้าม พวกเรากำลังจะเผชิญกับวิกฤติ Extreme Deflation หรือสภาวะเงินฝืดอย่างรุนแรงในระบบเศรษฐกิจโลก จนถึงจุดหนึ่ง Deflation พุ่งขึ้นในระดับสูงสุด แล้วหลังจากนั้นลูกตุ้มนาฬิกาจึงจะหมุนเหวี่ยงกลับไปอีกด้าน หลายปีให้หลัง หลังจากที่ Capital flow ไหลบ่าเข้าสหรัฐ สหรัฐจะประสบปัญหาที่ยิ่งใหญ่กว่าที่ยุโรปที่ล่มสลายไปแล้วเคยประสบมา และน่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ 250 ปี ระบบการเงินของโลกใหม่จะเกิดขึ้นภายในทศวรรษที่จะถึงนี้ แต่จะก่อนหรือหลังวิกฤติสหรัฐอันนี้ผมไม่อาจทราบได้ เพราะตัวแปรในระบบเศรษฐกิจยังมีอีกเยอะมากทั้งจีน รัสเซีย ที่ยังไม่ได้พูดถึง

แต่ทุกประเทศมหาอำนาจที่จะประสบวิกฤติหลังจากนี้ จะเกิดจาก “วิกฤติหนี้ภาครัฐ”  (Soverign Debt Crisis) ล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา มีเวลาผมจะมาเล่าต่อกันครับ ถึงประเด็นหลักของวิกฤติหนี้ภาครัฐ ที่มีที่มาจากตลาดพันธบัตรและอัตราดอกเบี้ย ต่อด้วยระบบการเงินของโลกใหม่ที่น่าจะเกิดขึ้นจากวิกฤติหนี้ทั่วโลก

 

AVA Advisor แอปพลิเคชั่นสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น ทุกท่านสามารถคลิกดู SET Fundflow ได้ที่นี่เลยAVA Advisor แอปพลิเคชั่นสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้น ทุกท่านสามารถคลิกดู SET Fundflow ได้ที่นี่เลย

Niran Pravithana

Author Niran Pravithana

CEO of Market Anyware

More posts by Niran Pravithana