ถึงแม้การลงทุนหุ้นไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มค่อนข้างน่าผิดหวัง เมื่อวัดจากดัชนี SET Index โดยปี 2561 ให้ผลตอบแทน -10.8% ขณะที่ปี 2562 (นับถึง 15 พ.ย.62) ให้ผลตอบแทน 2.5% ถึงแม้เป็นบวกแต่ก็ยังคงต่ำกว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นภูมิภาคโดยรวม เมื่ออิงจาก MSCI Asia Ex. Japan ที่ให้ผลตอบแทนในช่วงเวลาเดียวกันนับจากต้นปีที่ 8.8% ถึงแม้ตลาดหุ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะให้ผลตอบแทนไม่ดีนัก อย่างไรก็ตามเราประเมินว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดหุ้นปี 2563 มีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่านักลงทุนคาดจากเหตุผลหลัก ๆ ดังนี้
เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น
ซึ่งเป็นผลจาก
- การกลับมาซื้อและสต็อคสินค้า (Global Restocking) อีกครั้งหลังสินค้าคงคลังที่มีลดลง และทำให้กิจกรรมการผลิตในหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณชี้นำที่เป็นบวกในช่วงปลายไตรมาส 3/62 ที่ผ่านมา
- ผลของสงครามการค้าที่เริ่มจำกัด หลังสหรัฐฯและจีนมีแนวโน้มบรรลุข้อตกลงการค้า ซึ่งจะมีผลให้ผลกระทบจากสงครามการค้าไม่ร้ายแรงยิ่งไปกว่าที่เป็นอยู่ และบรรยากาศทางเศรษฐกิจโดยรวมมีโอกาสปรับดีขึ้นจากการเข้าสู่ปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิปดีสหรัฐฯ
- งบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า คาดจะเริ่มเห็นเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในช่วงไตรมาส 2/63
สภาพคล่องทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง
ธนาคารกลางทั่วโลกดำเนินนโยบายผิดพลาดในปี 2561 โดยปรับมาใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้นจริง แต่กลับชะลอตัวลง และทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งจำต้องกลับมาอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในช่วง 2562 แต่ก็ส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นค่อนข้างจำกัด เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายที่ต่อเนื่องไปยังปี 2563 ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มมีสัญญาณบวกมากขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกต่อการเคลื่อนไหวของหุ้นหรือตราสารทุน
ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยที่ลดลง
ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่แตกต่างจะช่วง 3-6 เดือนที่แล้ว ที่นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) แต่สถานการณ์ปัจจุบันบ่งชี้ว่า ความน่าจะเป็นในการเกิดเศรษฐกิจถดถอยในระยะสั้นนั้นลดลงอย่างมาก สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้เกิดการจัดสรรน้ำหนักการลงทุนใหม่ (Asset Re-Allocation) โดยลดน้ำหนักการลงทุนสินทรัพย์ปลอดภัย และกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์เสี่ยง หรือสินทรัพย์ที่นักลงทุนยังมีการถือครองในระดับต่ำ (Under Owned) มากขึ้น
สอบถามรายละเอียดได้ที่เฟสบุ๊คเพจ AVA Advisor และสามารถซื้อบัตรร่วมงานได้ “ที่นี่”
