Posted : 20 Aug 2020

ทำความเข้าใจเรื่อง Crypto เราต้องทำความเข้าใจมุมมองทางเศรษฐศาสตร์และการเงินของโลกด้วย ทำไมผมถึงคิดว่า Libra ไม่โอเค ซึ่งผมพูดประเด็นนี้ตั้งแต่ก่อนสมาชิกถอนตัวจาก Libra Association ในขณะที่ Crypto Evangelist หลาย ๆ คน เชียร์ Libra สุดลิ่มทิ่มประตู

ประเด็นที่ผมเห็นต่าง จากหลาย ๆ คน นอกจากเรื่องการต่อต้านจากภาครัฐ ก็เป็นเรื่องของนิยามของคำว่า Stablecoin นี่ล่ะ

  1. Stablecoin คือการที่ Libra บอกว่ามีสินทรัพย์แบคอัพสกุลเงิน Libra ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินต่าง ๆ อย่างดอลล่าร์ ยูโร เยน ฯลฯ และอาจรวมไปถึงพวกพันธบัตรรัฐบาล
  2. สินทรัพย์พวกนี้เราเรียกกันว่า Collateralized Asset เป็นตัวรับประกันมูลค่าของเหรียญ Libra เราสามารถเรียก Libra ว่าเป็น Money Representative คือเป็นตัวแทนของสินทรัพย์ที่แบคอัพ Libra
  3. แต่เดี๋ยวก่อนครับ ถ้าเราฟังแค่นี้แล้วบอกว่า Libra ควรจะ “เสถียร” อันนี้ผมคิดว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะเราต้องย้อนกลับไปดูก่อนว่า ทาง Libra Association นั้นทำอะไรกับ Collateralized Asset เหล่านั้น..!! ผมคิดว่าประเด็นนี้ไม่ค่อยมีใครพูดกันจริงจัง ซึ่งความจริงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
  4. ถ้าสมมติ Libra Association เก็บ Collateralized Asset เหล่านั้นเอาไว้ในตู้เซฟเฉย ๆ อันนี้ เราสามารถเรียก Libra เป็น Money Representative ได้เต็มปากเต็มคำครับ เพราะมันเป็นตัวแทนของเงินที่ไม่ได้ขยับ นอนนิ่ง ๆ อยู่ในตู้เซฟ ดังนั้นตัว Libra เอง จึงเป็นร่างโคลนของเงินเหล่านั้นได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
  5. แต่เดี๋ยวก่อน ถ้า Libra Association ไม่ได้เก็บพวก Collateralized Asset เหล่านั้นไว้เฉย ๆ ล่ะ บางคนบอกว่า จะเก็บไว้เฉย ๆ ทำไม มีเงินสดมหาศาลอยู่กับตัว ทำไมไม่เอาไปฝากธนาคาร ทำไมไม่เอาไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเท่าที่ผมทราบ มีความเป็นไปได้สูงว่า สินทรัพย์ที่อยู่ในมือของ Libra Association นั้นน่าจะถูกนำไปสร้างผลตอบแทนแบบความเสี่ยงต่ำ เช่นการซื้อพันธบัตร
  6. ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบข้อ 5 นั่นหมายถึงว่า Libra ไม่ใช่ Money Representative แล้วนะครับ เพราะว่าตัว Money เอง ก็ไหลไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เหมือนกัน มันไม่ได้นอนเฉย ๆ อยู่ในตู้เซฟตามทฤษฏี
  7. ลองคิดง่าย ๆ สมมติดอลล่าร์ในตะกร้าเงินของ Libra $100 ล้านเหรียญ ถูกนำไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ นั่นหมายถึง Libra Association ปล่อยเงินสดในส่วน Collateralized Asset ให้รัฐบาลสหรัฐ “กู้”
  8. ในขณะเดียวกัน เหรียญ Libra ที่ออกมาเป็นจำนวนเทียบเท่าเงิน $100 ล้านดอลล่าร์ (สมมติง่าย ๆ ว่าเป็น 500 ล้าน Libra ละกันนะครับ) ก็ไปอยู่ในมือนาย A และนาย A ก็เอาเงินตรงนี้ไปปล่อย “กู้” ให้กับนาย B
  9. คุณจะเริ่มเห็นนะครับว่า “เงินจริง ๆ” ที่เป็นเงิน $100 ล้านนั้น ถูกนำไปปล่อยกู้สองรอบ รอบแรกคือส่วน Collateralized Asset นั้นถูกนำไปปล่อยกู้ให้รัฐบาลในรูปแบบการซื้อพันธบัตร และส่วนเงิน Libra ก็ถูกนาย A นำไปปล่อยกู้ให้นาย B
  10. ในกรณีแบบนี้ Libra ไม่ใช่ Money Representative นะครับ เพราะตัว Money จริงๆ ($100 ล้าน) มันก็ทำหน้าที่ของมันอยู่ มันไม่ได้นอนอยู่ในตู้เซฟเฉย ๆ เราสามารถเรียกปัญหานี้ได้ว่าการ “Double Spending” รูปแบบนึง ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้จริง ๆ เราไม่สามารถจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า Libra นั้นเป็นตัวแทนเงิน หรือ Money Representative อย่างที่เข้าใจกัน
  11. มองอีกแง่หนึ่งการที่เงินก้อนเดียวไหลไปทำงานสองแหล่ง (เอาดอลล่าร์ไปซื้อพันธบัตร กับเอา Libra ไปปล่อยกู้ให้นาย B) หรืออีกตัวอย่างคือถ้า Libra Association เอาเงินไปซื้อพันธบัตร รัฐบาลได้เงินมาเอาไปซื้อเรือดำน้ำ ส่วนคนที่ถือ Libra ก็เอา Libra ไปซื้อลูกชิ้นปิ้ง นั่นคือเงินก้อนเดียวถูกนำไปซื้อทั้งเรือดำน้ำและลูกชิ้นปิ้งได้ ในแง่ demand supply คือ Libra เป็นการเพิ่ม Supply 2 เท่าให้กับสกุลเงินใด ๆ ที่อยู่ในตะกร้าเงินของ Libra นั้น
  1. ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นตามทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ ค่าเงินของสกุลในตะกร้าของ Libra นั้นจะต้องเฟ้อ 1 เท่าตัว (เพราะเงิน 1 ก้อนถูกนำไป Double Spending 2 รอบ) ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจริง ๆ ความวุ่นวายจะเกิดแน่ๆ ครับ เพราะ Libra จะเท่ากับ Private QE เหมือนการเพิ่มปริมาณเงินขึ้นมาในระบบเปล่า ๆ
  2. คิดในแง่ผู้กู้อย่างรัฐบาลนะครับ คือ ออกพันธบัตรมา จู่ ๆ ก็มี Libra Association มาซื้อพันธบัตรรัฐไป พอรัฐได้เงิน สมมติรัฐเอาเงินไปอัดฉีดเศรษฐกิจ แบบชิม ช็อป ใช้ของเมืองไทย นั่นคือ เงินก้อนนั้นไหลกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทันที ในขณะเดียวกัน Libra ก็ไหลอยู่ในระบบเศรษฐกิจ เช่นกัน นั่นคือเงินก้อนเดียวกันถูก double ซึ่งตามหลัก มูลค่าของมันก็ควรจะลดลงเท่ากับจำนวนที่มันเบิ้ลขึ้นมาน่ะแหละครับ
  3. นั่นแปลว่า ยิ่งมี Libra ในระบบเศรษฐกิจมากเท่าไหร่ ตามทฤษฏีแล้ว ตะกร้าเงินที่เป็น Collateralized Asset ก็จะด้อยค่าลงมากเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันเลย
  4. เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะกับ Libra นะครับ แต่ทุก ๆ Stablecoin ที่ไม่ได้เอา Collateralized Asset ไปขังไว้ให้นอนเล่นในตู้เซฟเฉย ๆ แต่กลับเอาไปลงทุนอะไรก็ตาม พวกนี้ถือว่าเข้าข่ายการทำ Private QE ทั้งนั้น เพียงแต่ปริมาณ Stablecoin ในโลกมันยังไม่ได้เยอะมากจนทำให้เงินมันเฟ้อรุนแรง
  5. แต่ถ้า Libra เกิดจริง ปริมาณ Libra น่าจะเทียบไม่ได้เลยกับปริมาณ Stablecoin อื่นๆ ที่มีในระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งมันจะ Impact กับปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจโลกแน่ ๆ ซึ่งคนทั่ว ๆ ไปอย่างผมยังมองเห็นปัญหานี้ เป็นไปไม่ได้ที่รัฐ หรือธนาคารกลางจะมองไม่เห็น นั่นจึงน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่รัฐเบรค Libra อย่างสุดแรง
  6. ทุกวันนี้รัฐบาลทั่วโลกกำลังต่อสู้กับปัญหาภาระหนี้สินภาครัฐ และธนาคารกลางกำลังต่อสู้กับความเชื่อมั่นของประชาชนอยู่อย่างหนักหน่วงและรุนแรงครับ การเดินเกมส์ใด ๆ ที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของสกุลเงินของรัฐบาลนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลและธนาคารกลาง ยอมรับไม่ได้แน่นอน นี่เป็นเหตุผลที่ผมยืนยันตั้งแต่แรก ๆ ที่คนฮือฮาเรื่อง Libra ว่า ผมไม่คิดว่ามันจะเกิดได้โดยง่ายครับ

ประเด็นทั้งหมดที่ผมอยากพูด ก็คงจบแค่นี้ครับ ผมไม่ได้เพิ่งมาพูดเรื่องนี้ เพราะ Libra โดนเทหรอกนะครับ ผมเคยคุยประเด็นนี้ตอนขึ้น Panel ของ Thai Fintech เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาละ  ตอนนี้มีข่าว Libra เลยถือโอกาสได้เขียนประเด็นนี้ซะที

PS. คนเทรด Crypto อย่าลืมนะครับ ตลาดคริปโตที่ฟื้นรอบนี้ ส่วนนึงมาจากกระแส Libra ช่วยหนุน ถ้าสมมติ Libra ร่วงจริง ๆ ระวังพอร์ต Crypto ของตัวเองกันด้วยครับ

Niran Pravithana

Author Niran Pravithana

CEO of Market Anyware

More posts by Niran Pravithana